“เจริญนคร” ราคาที่ดินพุ่ง คอนโดมิเนียมเพียบ


15/02/2020 สุรเชษฐ กองชีพ

ปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาน่าจะเป็นปีแรกที่ฝั่งธนบุรีมีสถานีรถไฟฟ้ามากกว่า 10 สถานีเป็นครั้งแรก หลังจากที่ฝั่งพระนครมีมากกว่า 10 สถานีมา 20 ปีแล้ว สถานีรถไฟฟ้าในฝั่งธนบุรีที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เพิ่งเปิดให้บริการแบบไม่เต็มประสิทธิภาพ และคงต้องรอจนถึงปลายปีพ.ศ.2563

เมื่อเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทองช่วงที่ 1 เปิดให้บริการ (ถ้าเป็นไปตามกำหนดการณ์เดิม) จึงจะมีจำนวนสถานีเพิ่มขึ้น จากนั้นก็รออีก 1 – 2 ปีเลยกว่าจะมีจำนวนสถานีเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามจำนวนสถานีก็คงไม่มากกว่าทางฝั่งพระนครแน่นอน

ปัจจุบันมีเส้นทางรถไฟฟ้า 3 เส้นทางที่เชื่อมพื้นที่ในฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครเข้าด้วยกัน คือสายสีเขียวและสายสีน้ำเงินที่เพิ่งเปิดให้บริการ จริงๆ แล้วมีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงอีก 1 เส้นทางแต่ยังใช้รถไฟทั่วไปให้บริการอยู่เลยขอข้ามไปก่อนนะครับ แต่อนาคตจะมีเส้นทางเพิ่มเติมอีกแน่นอน

ถ้าเอาสะพานสาทรเป็นจุดกึ่งกลางสามารถแบ่งพื้นที่ตามแนวถนนเจริญนครออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนทางทิศเหนือตั้งแต่สะพานสาทรขึ้นไปตามถนนเจริญนครต่อเนื่องถึงสะพานพระปกเกล้ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่การเปิดตัวของโครงการไอคอนสยามในปีพ.ศ. 2559 สร้างความน่าสนใจและพลิกพื้นที่โดยรอบให้กลายเป็นทำเลที่น่าสนใจขึ้นมาทันที เพราะศูนย์การค้าแห่งนี้จะกลายเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่เป็นโครงการใหม่ของกรุงเทพมหานครและอยู่ในฝั่งธนบุรี ซึ่งก่อนหน้านี้แทบจะไม่มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่เปิดให้บริการใหม่เลยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้การที่มีโครงการพื้นที่ค้าปลีกขนาดใหญ่เข้ามาในพื้นที่จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะต้องมีระบบการขนส่งทางรางเข้ามารองรับคนที่จะเดินทางเขามาในพื้นที่เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองจึงเกิดขึ้นภายใต้การผลักดันจากไอคอนสยาม ซึ่งเมื่อมีโครงการรถไฟฟ้าที่แม้ว่าจะเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าขนาดเล็กหรือว่ารถไฟฟ้ารางเบาไม่ใช่ระบบขนาดใหญ่แต่ก็ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในพื้นที่โดยรอบแบบเห็นได้ชัด แม้ว่าการมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับพื้นที่แล้ว การมีเส้นทางรถไฟฟ้าเข้ามาเสริมยิ่งเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้นไปอีก

ที่ดินหลายแปลงที่ก่อนหน้านี้อาจจะใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่เริ่มทยอยขายออกมาสู่มือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยจากราคาประมาณ 300,000 บาทต่อตารางวา สำหรับที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงประมาณปี พ.ศ.2558 เพิ่มขึ้นมากกว่า 500,000 บาทต่อตารางวาไปแล้ว สำหรับที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าเป็นที่ดินที่ไกลออกไปจากแม่น้ำก็ไม่ต่ำกว่า 300,000 บาทต่อตารางวา ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเร่งให้มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่มากขึ้นแบบชัดเจน

คอนโดมิเนียมเปิดใหม่รายปีและยูนิตสะสมในพื้นที่ตามแนวถนนเจริญนคร

พื้นที่เจริญนครฝั่งเหนือมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากโดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมาพื้นที่ตามแนวถนนเจริญนครในช่วงที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทองผ่านนั้น มีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

โดยมีคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมาที่ประมาณ 1,236 ยูนิต และคอนโดมิเนียมสะสมในพื้นที่นี้อยู่ที่ประมาณ 4,488 ยูนิต

แต่ที่น่าสนใจคือปี พ.ศ.2 563 เป็นอีกปีที่คาดว่าจะมีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่หลายโครงการในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทองทั้งในพื้นที่ตามแนวถนนเจริญนคร และถนนสมเด็จเจ้าพระเจ้ารวมไปถึงถนนลาดหญ้าและถนนเจริญรัถด้วย เพราะเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทองช่วงที่ 1 จากสถานีกรุงธนบุรีถึงสถานีสำนักงานเขตคลองสานมีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก ซึ่งตามกำหนดการณ์นั้นระบุไว้ว่าจะเปิดให้บริการภายในปีพ.ศ. 2563 ดังนั้น ปีพ.ศ. 2563 จึงเป็นอีกปีที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจในพื้นที่นี้ คอนโดมิเนียมที่เปิดขายอยู่ในพื้นที่นี้ ณ ปัจจุบันมีการขายไปแล้วประมาณ 88% เหลือขายไม่มากนัก และที่น่าสนใจคือราคาขายคอนโดมิเนียมที่ค่อนข้างแตกต่างกันในพื้นที่

โครงการคอนโดมิเนียมที่มีราคาขายสูงกว่า 300,000 บาทต่อตารางเมตรในพื้นที่ก็มีเปิดขายอยู่ และคอนโดมิเนียมในระดับราคาต่ำกว่า 100,000 บาทต่อตารางเมตรก็มีหลายโครงการเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการคอนโดมิเนียมที่มีราคาขายอยู่ในช่วง 100,000 – 150,000 บาทต่อตารางเมตร เพราะศักยภาพของพื้นที่นี้ยังไม่ได้มากเมื่อเทียบกับพื้นที่ในเมืองชั้นใน

สำหรับพื้นที่ทางทิศใต้ของสะพานสาทรเป็นพื้นที่ที่ก่อนหน้านี้มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายมากมายตั้งแต่ในอดีต แม้ว่าจะมีหลายช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจในพื้นที่นี้ลดลง แต่คาดว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าพื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่ที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการขึ้นมาอีกครั้ง เพราะการเปิดตัวโครงการศูนย์ราชการของกระทรวงมหาดไทยบนที่ดินของราชพัสดุ ขนาดกว่า 18 ไร่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้วัดเศวตฉัตร ซึ่งประกอบไปด้วยอาคารสูง 6 อาคารของหน่วยงานต่างๆ ดังนี้

1. กรมที่ดิน สูง 21 ชั้น
2. กรมการปกครอง สูง 23 ชั้น
3.กรมการพัฒนาชุมชน สูง 15 ชั้น
4.กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สูง 17 ชั้น
5.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย สูง 17 ชั้น
6.สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยสูง 15 ชั้น

อาคารสูงทั้ง 6 อาคารรวมแล้วเป็นแสนตางรางเมตรน่าจะทำให้พื้นที่บริเวณโดยรอบเกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในอนาคต เพราะจะมีคนเข้ามาทำงานหลักพันคนในพื้นที่และอาจจะมีผลต่อเนื่องไปยังเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทองที่มีความเป็นไปได้ที่จะขยายออกมาทางทิศใต้มากขึ้น แม้ว่าจะมีแนวเส้นทางอยู่แล้วเพียงแต่ยังไม่ชัดเจนเท่านั้น ดังนั้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยจะเปลี่ยนแปลงไปอีกแน่นอนในอีกหลายปีข้างหน้า

คอนโดมิเนียมสะสมในพื้นที่นี้มีทั้งหมดประมาณ 6,379 ยูนิต โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการคอนโดมิเนียมที่อยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเฉพาะโครงการที่เปิดขายก่อนหน้านี้มากกว่า 10 ปีขึ้นไป เพราะที่ดินบริเวณนี้ในอดีตยังขาดการพัฒนาเมื่อเทียบกับพื้นที่ตามแนวถนนเจริญนครฝั่งเหนือ ราคาที่ดินจึงยังคงต่ำกว่า แม้ว่าจะมีโรงแรมขนาดใหญ่ระดับ 4 – 5 ดาวเกิดขึ้น และสามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปยังฝั่งพระนครได้ด้วยสะพานสาทร และสะพานพระราม 3 หรือสะพานกรุงเทพ แต่ก็ยังคงค่อนข้างเงียบเหงาเมื่อเทียบกับฝั่งเหนือ แต่ในด้านของตลาดคอนโดมิเนียม พื้นที่ตามแนวถนนเจริญนครฝั่งใต้มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ต่อเนื่องในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา และบางโครงการได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อ เนื่องจากราคาขายที่อาจจะไม่สูงเกินไป เมื่อเทียบกับโครงการคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำเจ้าพระยาในทำเลอื่นๆ

แหล่งที่มา FacebookPage PropertyDNA


แชร์บทความ
Tags

ตลาดคอนโดมิเนียมธนบุรีรถไฟฟ้าสายสีทองราคาที่ดินเจริญนคร


add line phoenix