หลายตอนที่ผ่านมาพูดถึงโครงการค้าปลีกหลายรูปแบบไปแล้วทั้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต และมีการพูดถึงความเป็นมา แนวโน้มในอนาคต ซึ่งมีทั้งที่เคยเป็นที่นิยมในอดีตแบบ “ห้างสรรพสินค้า”
และแบบที่เคยมีการขยายตัวหรือเพิ่มสาขากันเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาประมาณ 10 กว่าปี จากนั้นก็ลดการเพิ่มจำนวนมีการเปลี่ยนมือ เปลี่ยนเจ้าของด้วยเหตุผลต่างๆ แบบ “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” หรือแบบที่ยังคงมีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่องถึงปัจจุบันและในอนาคตแบบ “ศูนย์การค้า” ตอนนี้เลยขอพูดถึงโครงการพื้นที่ค้าปลีกอีก1 รูปแบบที่มีการขยายตัวหรือเปิดให้บริการโครงการใหม่มากที่สุดในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา และน่าจะเป็นรูปแบบโครงการพื้นที่ค้าปลีกที่มีการปิดกิจการมากที่สุดเช่นกัน โครงการประเภทที่ว่าคือ “คอมมูนิตี้ มอลล์”
คอมมูนิตี้มอลล์ เริ่มเป็นที่รู้จักและกล่าวถึงในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2540 รูปแบบของโครงการในตอนนั้นเป็นเพียงอาคาร 1 ชั้นรูปทรงตัวแอลหรือตัวยู มีที่จอดรถตรงกลาง ผู้เช่าหลักเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต โครงการรูปแบบนี้ในตอนนั้นยังมีไม่มากนัก และเปิดกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพมหานคร และยังไม่มีการเรียกกันว่าเป็น “คอมมูนิตี้มอลล์” เพราะรูปแบบอาจจะดูผ่านๆ คล้ายปั๊มน้ำมัน โดยในตอนนั้นเรียกกันตามรูปแบบของโครงการว่า ”ศูนย์การค้าแบบเปิด”
จุดเริ่มต้นของโครงการรูปแบบนี้ในตอนนั้นคือมี “จัสโก้” จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาหาพื้นที่เพื่อเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตของพวกเขา และได้บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้พัฒนาโครงการเพื่อให้จัสโก้เช่าพื้นที่ โดยสาขาแรกที่บางบอน (ปัจจุบันโครงการก็ยังเปิดกิจการอยู่แต่ไม่มีจัสโก้แล้ว)
ดังนั้น สามารถกล่าวว่า “สยามฟิวเจอร์” เป็นผู้บุกเบิกหรือเปิดตลาดให้กับ “คอมมูนิตี้มอลล์” ให้กับประเทศไทยโดยมี “จัสโก้” เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของโครงการรูปแบบนี้ในประเทศไทย
จากนั้น “สยามฟิวเจอร์” ก็เปิดโครงการรูปแบบนี้อีก 2 – 3 แห่ง ก่อนที่จะเกิดก้าวสำคัญในตลาด “คอมมูนิตี้มอลล์” ในปี พ.ศ. 2547 หลังจากที่โครงการ “เจ อเวนิว ทองหล่อ” เปิดให้บริการ โครงการนี้นับได้ว่าเป็นโครงการ “คอมมูนิตี้มอลล์” ที่มีรูปแบบทันสมัย และแตกต่างจากรูปแบบเดิมๆ ของบริษัท
จากนั้น “เจ อเวนิว” ก็ได้รับความนิยมและเป็นที่กล่าวถึงมาโดยตลอดในช่วงเวลานับ 10 ปีหลังจากที่เปิดให้บริการ เพราะไม่เพียงตอบโจทย์คนในพื้นที่และคนในกรุงเทพมหานครที่ต้องการสถานที่ที่มีร้านอาหารสำหรับนั่งดื่มกินกันหลังจากทำงานในตอนเย็นๆ และมีบริการอื่นๆ หรือร้านค้าอื่นๆ ครบในโครงการเดียว อีกทั้งยังไม่ต้องวนหาที่จอดรถนานๆ แบบศูนย์การค้า เพราะหลายคนต้องการจอดรถแล้วลงจากรถไม่นานเมื่อเสร็จธุระแล้วก็ขับออกไปได้ทันทีแบบง่ายๆ ส่วนคนที่ต้องการร้านสำหรับนั่งดื่มกินนั้น นอกจากเรื่องของทำเลที่ตอบโจทย์แล้ว รูปแบบโครงการที่สวยงามก็เป็นอีกเรื่องที่สร้างความน่าสนใจให้กับโครงการนี้ และอาจจะพูดได้ว่าโครงการนี้เป็นต้นแบบให้กับ “คอมมูนิตี้มอลล์” อีกมากมายที่เปิดให้บริการหลังจากนั้น
“คอมมูนิตี้มอลล์” โดยทั่วไปมีพื้นที่อยู่ในช่วงประมาณ 1,000 – 10,000 ตารางเมตร แล้วแต่รูปแบบโครงการรวมไปถึงผู้เช่าหลัก ซึ่งผู้เช่าหลักส่วนใหญ่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ต จากนั้นร้านค้า ร้านอาหาร บริการอื่นๆ เป็นส่วนประกอบเติมเต็มโครงการให้มีความน่าสนใจ ตัวอาคารจะมี 1 ชั้นหรือ 2 ชั้นก็แล้วแต่ความมั่นใจของผู้ประกอบการเจ้าของโครงการ แต่ในตอนนี้เชื่อว่าเจ้าของโครงการ “คอมมูนิตี้มอลล์” หลายรายเลือกที่จะทำเพียง 1 ชั้นมากกว่า
โครงการรูปแบบนี้ในต่างประเทศอาจจะไม่เน้นที่จอดรถมากเท่าใดนัก แต่พอเกิดขึ้นในประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกันขนานใหญ่ โดย “คอมมูนิตี้มอลล์” จำนวนมากในกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการพร้อมกับที่จอดรถขนาดใหญ่ บางโครงการขนาดของที่จอดรถใหญ่กว่าส่วนที่เป็นร้านค้าซะอีก ซึ่งก็เป็นอีก 1 เรื่องที่มีผลต่อการพัฒนาโครงการรูปแบบนี้ในประเทศไทย
“คอมมูนิตี้มอลล์”เริ่มเป็นที่รู้จัก และมีให้เห็นมากขึ้นหลังจากปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา โดยจากสถิติหรือข้อมูลที่รวบรวมมานั้น พื้นที่รวมของคอมมูนิตี้มอลล์ในกรุงเทพมหานคร ณ ปี พ.ศ. 2550 อยู่ที่ประมาณ 148,880 ตารางเมตร และถ้านับ “คอมมูนิตี้มอลล์” ในพื้นที่ที่ต่อเนื่องกับกรุงเทพมหานครด้วยก็เกิน 2 แสนตารางเมตรไปแล้ว
การขยายตัวอย่างรวดเร็วของ “คอมมูนิตี้มอลล์” เป็นผลต่อเนื่องมาจากการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีก และความต้องการโครงการพื้นที่ค้าปลีกขนาดไม่ใหญ่มากที่สามารถพัฒนาได้ในพื้นที่ที่ไม่ใหญ่มาก ใช้ที่ดินไม่มาก สามารถพัฒนาได้ในชุมชนขนาดกลาง โดยเป็นโครงการพื้นที่ค้าปลีกที่มีทั้งร้านค้า ร้านอาหาร บริการต่างๆ โดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่กว่าร้านสะดวกซื้อ ซึ่งรูปแบบของ “คอมมูนิตี้มอลล์” นั้นตอบสนองความต้องการได้ตรงประเด็นที่สุด