ตลาดพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบ ณ ไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2562


07/05/2019 สุรเชษฐ กองชีพ

“การซื้อสินค้าออนไลน์
เริ่มมีผลต่อโครงการพื้นที่ค้าปลีก
มากขึ้น”

ตลาดพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบมีการขยายตัวในอัตราที่เริ่มลดลงในปีพ.ศ. 2562 เป็นต้นไป อาจจะเพราะว่ามีโครงการพื้นที่ค้าปลีกเปิดให้บริการใหม่ค่อนข้างมากในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้

และหลายโครงการที่กำลังก่อสร้างอยู่มีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงหลังจากปีพ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2562 – 2564 จึงมีพื้นที่ค้าปลีกเปิดให้บริการใหม่ไม่มากนัก แต่หลังจากนั้นจะมีมากขึ้นจากโครงการมิกซ์-ยูสขนาดใหญ่


พื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบ ณ ไตรมาสที่ 1 พ.ศ.2562

พื้นที่ค้าปลีกสะสมในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบ ณ ไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2562 อยู่ที่ประมาณ 8,238,000 ตารางเมตร โดยในปีพ.ศ. 2562 คาดว่าจะมีพื้นที่ค้าปลีกเปิดให้บริการเพิ่มเติมอีกไม่น้อยกว่า 271,000 ตารางเมตร และอีกมากกว่า 272,000 ตารางเมตรที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีกำนหดเปิดให้บริการในปีพ.ศ. 2563 – 2564 ส่วนอีกส่วนหนึ่งเปิดให้บริการหลังจากนั้น

พื้นที่ค้าปลีกที่เปิดให้บริการใหม่และที่มีแผนจะเปิดให้บริการในปีพ.ศ. 2561 เป็นต้นมามีแนวโน้มลดลงชัดเจน อาจจะเพราะการเริ่มได้รับความนิยมของระบบการซื้อสินค้าออนไลน์ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมาและเริ่มมีมากขึ้นต่อเนื่องแบบที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อโครงการพื้นที่ค้าปลีกรูปแบบต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ผู้ประกอบการโครงการพื้นที่ค้าปลีกในประเทศไทยจึงมีการพัฒนาระบบการซื้อสินค้าออนไลน์ของตนเองให้มีความน่าสนใจและพยายามดึงดูดคนให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้นเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดหรือรายได้ของตนเองไม่ให้ลดลงจากการโดนการซื้อสินค้าออนไลน์แย่งฐานลูกค้า นอกจากนี้การร่วมมือกับบริษัทขนส่งสินค้าก็มีความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายพยายามดึงดูดคนเข้ามาซื้อสินค้าของตนเองโดยมีการประชาสัมพันธ์เรื่องไม่เสียค่าส่งและได้รับสินค้าในเวลารวดเร็วเป็นจุดขาย

“ศูนย์การค้ายังครองแชมป์
พื้นที่รวมในกรุงเทพฯ แต่ คอมมูนิตี้มอลล์

นับว่า มีอัตราการขยายตัว รายปีมากที่สุด
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา


พื้นที่ค้าปลีกสะสมในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบ ณ ไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2562

พื้นที่รวมของศูนย์การค้าในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบมีสัดส่วนประมาณ 59% ของพื้นที่ค้าปลีกรวม 8,238,000 ตารางเมตร โดยมีคอมมูนิตี้มอลล์ตามมาเป็นลำดับที่สองด้วยสัดประมาณ 16% ซึ่งเพิ่มขึ้นมาในช่วงเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานี่เอง เพราะก่อนหน้านี้ไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่ปีพ.ศ. 2540 เป็นต้นมามีพื้นที่รวมมากเป็นลำดับที่สอง แต่เพราะการชะลอการขยายตัวของไฮเปอร์มาร์เก็ตประกอบกับการขยายตัวเพิ่มขึ้นแบบรวดเร็วของคอมมูนิตี้มอลล์จึงมีผลให้คอมมูนิตี้มอลล์ขึ้นมาเป็นลำดับที่สองแทนที่ไฮเปอร์มาร์เก็ต

สรุป

ตลาดพื้นที่ค้าปลีกในบางทำเลอยู่ในช่วงชะลอตัวและอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในโครงการบางรูปแบบ

โครงการพื้นที่ค้าปลีกเป็นโครงการที่จำเป็นต้องสร้างกระแสและมีกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อสร้างความน่าสนใจและดึงดูดคน ถ้าโครงการใดมีการทำกิจกรรมแบบนี้ลดลงก็มีผลต่อความนิยมของโครงการได้

คอมมูนิตี้มอลล์หลายโครงการขาดการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในช่วงหลังจากปีที่ 1 ไปแล้วซึ่งมีผลต่อจำนวนคนที่เข้าโครงการซึ่งจะลดลง

ศูนย์การค้าเป็นรูปแบบโครงการพื้นที่ค้าปลีกที่มีโครงการที่กำลังก่อสร้างมากที่สุด เพราะเป็นรูปแบบที่มีความเหมาะสมกับภาวะตลาดและทำเลที่ตั้ง

การซื้อสินค้าออนไลน์เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวจของโครงการพื้นที่ค้าปลีกในอนาคต


แชร์บทความ
Tags

Community Mallตลาดพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพมหานครที่ปรึกษาอสังหาฯธุรกิจค้าปลีกพื้นที่ค้าปลีกฟีนิกซ์ห้างสรรพสินค้า


add line phoenix