รอ “บิ๊กตู่” เคาะปิดดีล BTS รับ “หนี้แสนล้าน-ลดค่าตั๋ว” แลกสัมปทาน


11/10/2019 มณีรัตน์ จันทร์เคน

น่าจะใกล้งวดเซ็นสัญญาในเร็ว ๆ นี้ สำหรับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวมูลค่ากว่าแสนล้าน ระหว่าง “กทม.-กรุงเทพมหานคร” กับ “BTSC-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” ผู้รับสัมปทาน

หลัง “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ม.44) เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งเส้นทางหลักช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน มีบีทีเอสรับสัมปทาน

ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการเอง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่ กทม.รับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งปัจจุบัน กทม.จ้างบีทีเอสเดินรถส่วนต่อขยายให้ถึงปี 2585

เพื่อแก้ปัญหาให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นโครงข่ายเดียวกัน อำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้โดยสาร และมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม ไม่เป็นภาระแก่ประชาชน

มี “ฉัตรชัย พรหมเลิศ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการเจรจากับบีทีเอส ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ระยะเวลาสัมปทาน อัตราค่าโดยสาร หลักเกณฑ์การแบ่งผลประโยชน์จากค่าโดยสาร

ล่าสุด “บิ๊กป๊อก-พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การดำเนินการของคณะกรรมการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างที่สำนักเลขาฯเสนอให้คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณาและให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดูว่าจะมีข้อคิดเห็นอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีชุดใหญ่อนุมัติ จากนั้นถึงจะลงนามในสัญญาได้ ยังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ แต่ทุกอย่างต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

ขณะที่ “คีรี กาญจนพาสน์” บอสใหญ่บีทีเอส กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเมื่อเปิดบริการส่วนต่อขยายครบแล้วจะเป็นเส้นทางที่มีระยะทางยาวมาก ขณะนี้รอการอนุมัติสัมปทานกับ กทม. ระยะเวลา 30 ปีนับจากที่สัญญาเดิมสิ้นสุดในปี 2572 ซึ่งในเงื่อนไขการเจรจาทางบีทีเอสจะต้องรับภาระหนี้แทน กทม.และเก็บค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท ลดลงจากราคาเดิม 158 บาท ซึ่งบริษัทก็ยอมรับข้อเสนอแล้ว รอกระบวนการอนุมัติจาก ครม.

คีรี กาญจนพาสน์

“สัมปทานเราไม่ได้มาเฉย ๆ ต้องออกเงินอีกกว่า 1 แสนล้านบาทแทน กทม. ซึ่งเป็นภาระหนี้จากค่างานโยธาส่วนต่อขยายใหม่รับโอนมาจาก รฟม. ยังมีดอกเบี้ย เราลงทุนค่างานระบบ และต่อไปก็ต้องสั่งซื้อรถเพิ่มอีกด้วย” รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับผลการเจรจาที่มีข้อยุติร่วมกัน “กทม.-บีทีเอส” จะร่วมทุนกันในรูปแบบ PPP net cost ระยะเวลา 30 ปี วงเงินกว่า 1.1 แสนล้านบาท โดยบีทีเอสจะร่วมลงทุนงานระบบกว่า 20,000 ล้านบาท และรับภาระหนี้ก้อนโตแทน กทม.ในทันทีหลังจากเซ็นสัญญา

ไม่ว่าจะเป็นงานโยธาส่วนต่อขยาย 2 ช่วง วงเงิน 60,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 10,000 ล้านบาท การขาดทุนจากการดำเนินการงานส่วนต่อขยาย 10 ปี วงเงิน 21,133 ล้านบาท

เพื่อแลกกับการขยายสัญญาสัมปทานเส้นทางหลักที่บีทีเอสยังเหลือ 10 ปี โดยได้รับการขยายสัญญาออกไปอีก 30 ปี นับจากสัญญาสัมปทานเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 4 ธ.ค. 2572

ส่วนต่อขยายทั้งช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง, ตากสิน-บางหว้า, แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สัญญาจ้างบีทีเอสเดินรถจะสิ้นสุดพร้อมกับสัมปทานเดิม จากนั้นจะนำทั้งสายทางหลักและส่วนต่อขยายมารวมเป็นสัมปทานเดียวกัน และเริ่มต้นสัมปทานใหม่นับหนึ่งวันที่ 5 ธ.ค. 2572 ถึงวันที่ 4 ธ.ค. 2602

ในส่วนของค่าโดยสารผลการเจรจาจะปรับจากอัตราค่าโดยสารในปัจจุบันที่บีทีเอสเก็บ 16-44 บาท และ กทม.เก็บส่วนต่อขยายเดิม 15 บาท และส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต เก็บ 15-60 บาท และแบริ่ง-สมทุรปราการอีก 15-39 บาท รวมเป็น 158 บาท จะเก็บให้เป็นระบบอัตราค่าโดยสารตามระยะทางตลอดสาย คิดค่าแรกเข้าครั้งเดียว 15 บาท เก็บสูงสุดไม่เกิน 65 บาท และปรับค่าโดยสารขึ้นทุก 2 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI)

“ค่าโดยสารเส้นทางหลักยังเก็บเท่าเดิมที่ 16-44 บาท เพราะบีทีเอสนำส่วนนี้เข้าไปอยู่ในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้ว แต่จะเก็บส่วนต่อขยายที่ 20 บาทตลอดสาย คิดรวมกันไม่เกิน 65 บาท ซึ่ง กทม.จะรับภาระค่าโดยสารส่วนที่ปรับลด ซึ่งโครงสร้างราคาใหม่จะเริ่มใช้หลังเซ็นสัญญา คาดว่าจะทันเปิดใช้สายสีเขียวช่วงหมอชิต-คูคตในเดือน ธ.ค.นี้ที่จะเปิดถึงสถานี ม.เกษตรศาสตร์ เพราะบีทีเอสเดินรถสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการให้ฟรีอยู่ในปัจจุบัน”

โดย กทม.จะนำรายได้ที่จะได้รับส่วนแบ่งจากบีทีเอสในปี 2573 คาดว่าตลอด 30 ปีจะมีรายได้ประมาณ 1 แสนล้านบาทมาชำระคืนให้กับบีทีเอสที่หาเงินมาจ่ายหนี้แทน กทม.ไปก่อน

เป็นข้อตกลงที่ “วินวิน” ทั้ง กทม.-บีทีเอส ส่วนผู้ใช้บริการจะได้ประโยชน์จากดีลครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน รอดูผลตอบรับค่าโดยสารเก็1บตามโครงสร้างใหม่ปลายปีนี้

แหล่งที่มา เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 10 ตุลาคม 2562


แชร์บทความ
Tags

บีทีเอสรถไฟฟ้ารถไฟฟ้าสายสีเขียวโครงสร้างพื้นฐาน


add line phoenix