ธ.ค. BTS จอด ม.เกษตร-สายสีน้ำเงินเปิดถึงบางพลัด


25/10/2019 มณีรัตน์ จันทร์เคน

5 ธ.ค.เปิดถึงเกษตร – รถไฟฟ้าบีทีเอสจะเปิดส่วนต่อขยายเพิ่ม 4 สถานี จากห้าแยกลาดพร้าว-ม.เกษตร ส่วนค่าโดยสารยังต้องลุ้นกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะประกาศให้นั่งฟรีไปถึงปีใหม่หรือเก็บตามโครงสร้างใหม่ 15-65 บาทเลย

ดีเดย์ ธ.ค. คนกรุงได้นั่งรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายใหม่ 2 สาย รฟม.เร่งช่วง “เตาปูน-บางพลัด” เพิ่มผู้โดยสารสายสีน้ำเงินวืดเป้า 3.4 หมื่นคน ผนึก BEM ลดค่าโดยสาร ออกตั๋วพิเศษนั่งสีม่วงพ่วงน้ำเงิน จ่าย 47-52 บาท กทม.เริ่มทดสอบเดินรถสายสีเขียวสถานีห้าแยกลาดพร้าว-ม.เกษตรฯ คาดคนนั่ง 1 แสนคน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-หลักสองเชื่อมกับสายสีน้ำเงินเดิมหัวลำโพง-เตาปูน และเก็บค่าโดยสารเมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมาในอัตรา 16-42 บาท

ปรากฏว่ายอดผู้โดยสารของสายสีน้ำเงินโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 440,000-450,000 เที่ยวคน/วัน ลดลงประมาณ 34,000 เที่ยวคน/วัน เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอมและประชาชนยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ระบบรางในการเดินทาง ต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

“ในเดือน ธ.ค.นี้จะเปิดการเดินรถฟรีของสายสีน้ำเงินต่อขยายช่วงเตาปูน-ท่าพระ โดยจะเปิดช่วงเตาปูน-บางพลัดก่อน จากนั้นทยอยเปิดถึงสถานีท่าพระตามความพร้อมของระบบ จะช่วยให้ประชาชนเดินทางสะดวกและลดปัญหาการจราจรฝั่งธนบุรีได้ระดับหนึ่ง”

ทั้งนี้ คาดว่าเปิดให้บริการสายสีน้ำเงินเต็มรูปในเดือน มี.ค. 2563 จะทำให้มีผู้โดยสารในระบบอยู่ที่ 800,000 เที่ยวคน/วัน ในช่วงปลายปีหน้า อีกทั้งจะทำให้ปริมาณผู้โดยสารสายสีม่วงเตาปูน-คลองบางไผ่เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 70,000 เที่ยวคน/วัน เป็น 100,000 เที่ยวคน/วัน

นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการจูงใจให้คนมาใช้มากขึ้น ในเร็ว ๆ นี้ รฟม.จะร่วมกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้รับสัมปทานสายสีน้ำเงิน ออกมาตรการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า โดยจัดโปรโมชั่นร่วมกับสายสีม่วงหากผู้โดยสารเดินทางเชื่อมต่อทั้ง 2 ระบบจะลดค่าโดยสารสูงสุดจาก 70 บาท และจะยกเว้นการเก็บค่าแรกเข้า จะออกบัตรโดยสารแบบจำกัดจำนวนเที่ยว ราคาพิเศษ

มี 4 แบบ ประกอบด้วย แบบที่ 1 จำนวน 15 เที่ยว มูลค่า 780 บาท (เฉลี่ยค่าโดยสาร 52 บาท/เที่ยว) แบบที่ 2 จำนวน 25 เที่ยว มูลค่า 1,250 บาท (เฉลี่ยค่าโดยสาร 50 บาท/เที่ยว) แบบที่ 3 จำนวน 40 เที่ยว มูลค่า 1,920 บาท (เฉลี่ยค่าโดยสาร 48 บาท/เที่ยว) และแบบที่ 4 จำนวน 50 เที่ยว มูลค่า 2,350 บาท (เฉลี่ย 47 บาท/เที่ยว) ซึ่งได้หารือ BEM แล้ว

ส่วนสายสีม่วง จะปรับลดค่าโดยสารช่วง off peak ช่วงเวลา 09.30-15.30 น. จากเดิม 14-42 บาท เป็น 14-20 บาท แต่ถ้าเดินทาง 1 สถานีจะเสีย 17 บาท คาดว่าจะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 10,000 เที่ยวคน/วัน ซึ่งทั้ง 2 มาตรการจะนำเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ชุดใหม่เห็นชอบ หลังจากนั้นจะสามารถประกาศใช้ได้ทันที คาดว่าจะจัดโปรโมชั่นเป็นระยะเวลา 6 เดือน ส่วนโปรโมชั่นเฉพาะสายสีน้ำเงิน ยังไม่มีต้องรอดูผลตอบรับจากโปรโมชั่นนี้ก่อน

นอกจากนี้ จะเพิ่มขบวนรถใหม่เข้าระบบมากขึ้นจากเดิมมี 19 ขบวน และรับมอบขบวนรถใหม่แล้ว 15 ขบวน รวมเป็น 34 ขบวน ยังเหลืออีก 20 ขบวนที่ต้องรับมอบ จะทยอยมาเรื่อย ๆ จนครบในเดือน มี.ค. 2563

ด้านนายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า หลังเปิดให้บริการฟรีรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-คูคต จำนวน 1 สถานี จากหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการสูงสุด 35,002 เที่ยวคน/วัน

ส่วนความพร้อมขยายการเดินรถเพิ่มจากสถานีห้าแยกลาดพร้าว อีก 4 สถานี ประกอบด้วย สถานีพหลโยธิน 24 สถานีรัชโยธิน สถานีเสนานิคม และสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขณะนี้การทดสอบเดินรถเป็นไปตามแผน เริ่มนำขบวนรถเปล่าขึ้นวิ่งบนรางไปจนถึงสถานี ม.เกษตรศาสตร์ และพร้อมจะเปิดใช้บริการวันที่ 5 ธ.ค.นี้ คาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 100,000 เที่ยวคน/วัน

“เนื่องจากแนวเส้นทางพาดผ่านสถานที่ราชการ และอาคารสำนักงานขนาดใหญ่หลายแห่ง และเมื่อเปิดบริการถึงสถานีปลายทางที่คูคตในปี 2563 คาดว่าจะมีผู้โดยสารมากกว่า 200,000 เที่ยวคน/วัน”

สำหรับขบวนรถมารองรับการบริการก่อนหน้านี้นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้รับจ้างเดินรถ เปิดเผยว่า รถใหม่ที่สั่งซื้อ 46 ขบวนเมื่อปี 2559 ขณะนี้ทยอยรับมอบแล้ว 27 ขบวน ทำให้ปัจจุบันบีทีเอสมีขบวนรถในระบบจากเดิม 52 ขบวน เป็น 79 ขบวน และ 98 ขบวน รวม 392 ตู้ในปี 2563 ให้บริการในระบบ

เพื่อช่วยให้การเดินรถมีความถี่สูงสุดได้ในชั่วโมงเร่งด่วน แม้จะมีการขยายเส้นทาง และจำนวนสถานีที่ให้บริการเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันบีทีเอสให้บริการรวม 44 สถานี ทั้งในสายสีลมและสายสุขุมวิท มีความถี่การเดินรถสูงสุดในชั่วโมงเร่งด่วน เช้าและเย็น ในสายสุขุมวิท (สถานีห้าแยกลาดพร้าว-สถานีสำโรง) ที่ 2.40 นาทีต่อขบวน และในสายสีลม 3.45 นาทีต่อขบวน และปลายปี 2562 จะเปิดเพิ่มอีก 4 สถานี

แหล่งที่มา เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 25 ตุลาคม 2562


แชร์บทความ
Tags

บางพลัดบีทีเอสม.เกษตรรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน


add line phoenix