ทางหลวงชนบท อนุญาต “บีทีเอส” ปรับปรุงโครงสร้างสะพานตากสิน พร้อมให้กทม.พิจารณาออกแบบศาลาทางเดินเชื่อมต่อท่าเรือสาทร เพื่อความปลอดภัยคาดใช้เวลา 40 เดือน
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการเส้นทางสถานีตากสิน (S6) เป็นสถานีชั่วคราวมาแต่เดิม มีลักษณะเป็นทางวิ่งเลนเดียว รถไฟฟ้าต้องจอดสับรางทุกครั้งที่จะเดินรถผ่าน ทำให้ความถี่ในการเดินรถไฟฟ้าไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส และกรมเจ้าท่า (จท.) ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้ ทช.ได้อนุมัติให้ กทม. ปรับปรุงสะพานตากสินฯ เพื่อดำเนินการขยายสถานีสะพานตากสิน (S6) โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 ทช.ได้ส่งหนังสืออนุญาตให้ กทม.ปรับปรุงโครงสร้างสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน
เพื่อก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสิน (S6) โดยจะดำเนินการตัดปีกสะพานฝั่งที่ก่อสร้างสถานีกว้าง 1.80 เมตร และจะขยายฝั่งตรงข้ามบริเวณด้านนอกทดแทน กว้าง 2.30 เมตร พร้อมทั้งปรับปรุงพื้นที่ใต้สถานี คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 40 เดือน แบ่งเป็นงานในส่วนของการขยายสะพาน 30 เดือน และงานรางรถไฟฟ้า 10 เดือน
สำหรับในส่วนที่ต้องปรับปรุงพื้นที่บริเวณใต้สถานี รวมถึงศาลาทางเดินเมื่อลงจากสถานีเพื่อเชื่อมต่อไปยังท่าเรือสาทร ทาง กทม. ได้ส่งแบบก่อสร้างทางเดินเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสิน (S6) กับท่าเรือสาทร เพื่อให้ ทช.ประกอบการพิจารณาและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบัน ทช.ได้ตรวจสอบแบบก่อสร้างทางเดินเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าตากสิน (S6) แล้ว พบว่าบางส่วนไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากตำแหน่งก่อสร้างฐานรากศาลาทางเดินติดโครงสร้างฐานรากบันไดสะพาน จึงได้ให้ กทม.พิจารณาการออกแบบศาลาทางเดินเชื่อมต่อท่าเรือสาทรเป็นโครงสร้างเบา เพื่อไม่ต้องเจาะเสาเข็มและให้มีรูปแบบที่สอดคล้องเหมาะสมกับสิ่งก่อสร้างของ ทช.ให้ประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกปลอดภัยให้ได้มากที่สุดต่อไป
แหล่งที่มา เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 17 มีนาคม 2563